chairman

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2565-2567 จะมีการขยายตัวเฉลี่ย 4.5 - 5.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แต่ในส่วนของการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในปี 2565 ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ในปี 2565 มีการขยายตัวประมาณ 3.0 - 3.5% ทำให้การแข่งขันที่จะชนะการประมูลงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างผู้รับเหมารายใหญ่และรายกลางเกิดขึ้นค่อนข้างสูง ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ชนะการประมูลอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับ ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และทำให้ต้นทุนด้านวัสดุก่อสร้างหลัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ คอนกรีต สายไฟทองแดง อลูมิเนียม และอุปกรณ์งานติดตั้งระบบระกอบอาคาร ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซี่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2565 บริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนหลายโครงการ และชนะการประมูล รวม 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่างาน จำนวน 1.8 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายแต่เนื่องจากบริษัทมีงานในมือที่มาจากปี 2564 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้หลังจากการรับรู้รายได้ในปี 2565 จำนวนรวม 7.84 พันล้านบาทแล้ว ณ ต้นปี 2566 บริษัทมีงานในมือ (backlog) 15.7 พันล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนการที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึง การเข้ารับงานจากภาคเอกชนรายใหญ่โดยคาดว่าจะได้รับงานเพิ่มเติมในปี 2566 อีกประมาณ 12.2 พันล้านบาท

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 พลาดจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งด้านรายได้และผลกำไร รวมถึงการชนะการประมูลโครงการใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งมาจากสาเหตุที่กล่าวถึงข้างต้น แม้ว่าบริษัทจะมีงานในมือ (Backlog) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี บริษัทมีรายได้ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 7.8% จาก 7.63 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 8.23 พันล้านบาท แต่มีกำไรขั้นต้นลดลงจาก 8.5% ในปี 2564 เป็น 2.4% ในปี 2565 เนื่องมาจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างหลักเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ จำนวน 257.2 ล้านบาท เปรียบเทียบกับกำไรก่อนภาษีเงินได้ ในปี 2564 จำนวน 144.4 ล้านบาท แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารต้นทุนทางการเงินและส่วนแบ่งขาดทุนจากการลงทุนในการร่วมค้าได้ลดลงในปี 2565 บริษัทบันทึกขาดทุนสำหรับปี จำนวน 170.5 ล้านบาท (ขาดทุนต่อหุ้น 0.13 บาท) เปรียบเทียบกับกำไรในปี 2564 จำนวน 125.9 ล้านบาท (กำไรต่อหุ้น 0.09 บาท) ในงบการเงินรวม สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ บริษัทขาดทุนสำหรับปี จำนวน 195.9 ล้านบาท (ขาดทุนต่อหุ้น 0.14 บาท) เปรียบเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีกำไรสำหรับปี 181.1 ล้านบาท (กำไรต่อหุ้น 0.13 บาท)

การปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้างหลักโดยเฉพาะเหล็ก มีผลต่อต้นทุนของบริษัทเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2565 สถานการณ์ดังกล่าวนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทคาดว่าในปี 2566 และ 2567 ต้นทุนในส่วนนี้จะสามารถควบคุมได้ดีขึ้นกว่าปี 2565 และทำให้บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้ต่อไป

ในปี 2565 สินทรัพย์รวมของบริษัท เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 13.57 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 14.3 พันล้านบาทในปี 2565 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น 6.7% จาก 11.23 พันล้านบาท ในปี 2564 เป็น 11.98 พันล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าและต้นทุนตามสัญญาที่ยังไม่ได้เรียกเก็บเงินจากลูกค้า ในขณะที่เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงจาก 815.8 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 429.5 ล้านบาทในปี 2565 หนี้สินรวมเพิ่มขึ้น 8.4% จาก 10.85 พันล้านบาท ในปี 2564 เป็น 11.77 พันล้านบาท ในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินหมุนเวียน จำนวน 10.77 พันล้านบาท (เปรียบเทียบกับ 10.43 พันล้านบาท ในปี 2564) ซึ่งประกอบด้วย เงินกู้เบิกเกินบัญชี และกู้ยืมระยะสั้น จากสถาบันการเงินในลักษณะ Project financing จำนวน 4.33 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับ 2.9 พันล้านบาท ในปี 2564 หนี้สินไม่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น 595.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ระยะเวลา 2 ปี ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 2.72 พันล้านบาท ในปี 2564 เป็น 2.52 พันล้านบาท ในปี 2565 เป็นผลจากการขาดทุนในปี 2565 และส่งผลทำให้อัตราส่วน D/E ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 3.99 เป็น 4.67 ในขณะที่ Gearing ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.25 ในปี 2564 เป็น 1.98 ในปี 2564 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่รายอื่น ๆ และยังอยู่ในระดับที่สถาบันการเงินและนักลงทุนทั่วไปที่ให้การสนับสนุนยังยอมรับ

บริษัทจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของบริษัทที่อยู่ในกรอบของบรรษัทภิบาล มีการพิจารณาควบคุมดูแลความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ต่ำ และสามารถกำหนดวิธีการแก้ไข ปรับปรุง และลดความเสี่ยงในธุรกรรมต่าง ๆ ของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น โดยได้กำหนดกลยุทธ์ของทุกหน่วยงานของบริษัทให้บริหารจัดการและดำเนินการตามกรอบของ ESG ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณโครงการที่ปฏิบัติงาน ในเรื่องของขยะและมลภาวะต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในโครงการ หรือประชาชนบริเวณข้างเคียง เน้นเรื่องความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นสำคัญ การเลือกคัดสรรและใช้วัสดุต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (CO2) มีการจัดทำโครงการคัดแยกขยะในทุกโครงการก่อสร้างเพื่อนำมา recycle การส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและแรงงานให้มีความรู้และความสามารถเพิ่มทั้งในด้านเทคนิคงานก่อสร้างและติดตั้งระบบ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทผลิตผลงานที่ดีให้กับลูกค้าและเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป บริษัทให้ความสำคัญกับ Value Chain มาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงให้การสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมสำหรับงานก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholders) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา การสนับสนุนที่ได้รับจากลูกค้า คู่ค้า ผู้บริหารและพนักงาน รวมถึง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ เป็นพลังสำคัญที่ทำให้บริษัทมีความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป คณะกรรมการบริษัทจึงขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้

sign
นายสมประสงค์ บุญยะชัย
ประธานกรรมการบริษัท
sign
นายเสวก ศรีสุชาต
ประธานกรรมการบริหาร
cross menu