โครงสร้างรายได้แยกตามสายผลิตภัณฑ์

หน่วย : พันบาท

สายผลิตภัณฑ์ / กลุ่มธุรกิจ ดำเนินการโดย สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ปี 2565 ปี 2564 ปี 2563
รายได้ ร้อยละ รายได้ ร้อยละ รายได้ ร้อยละ
งานระบบ บริษัท - 4,400,833 54.72 3,694,031 50.38 4,733,922 55.16
  พีแอลอี อินเตอร์ฯ (ยูนิมา) 99.99 - - - - - -
งานก่อสร้างโยธา บริษัท - 3,641,093 45.28 3,637,453 49.61 3,845,098 44.80
  พีแอลอี อินเตอร์ฯ (ยูนิมา) 99.99 - - - - - -
  กิจการร่วมค้า พี เอ อาร์ 100.00 - - - - - -
งานบ้านเอื้ออาทร บริษัท - - - - - - -
อื่นๆ บริษัท - - - - - 3,809 0.04
บริษัท บี-เลย์ พลัส จำกัด1 69.70 - - 574 0.01 133 0.00
รายได้จากการให้บริการ - - 8,041,926 100.00 7,322,058 100.00 8,582,962 100.00
รายได้อื่น - - 189,698 - 301,579 - 190,032 -
รายได้รวม - - 8,231,624 - 7,633,637 - 8,772,994 -
หมายเหตุ
1 ในเดือนธันวาคม 2564 PLE ได้ขายหุ้น บ.บี-เลย์ พลัส จำกัด ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
ลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ

ธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม และกิจการร่วมค้าฯ (รวมเรียกว่า “กลุ่มบริษัท”) สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ตามลักษณะของงานที่ให้บริการ ได้แก่ งานออกแบบ จัดหา และรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบสุขาภิบาลและระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสื่อสารโทรคมนาคม&ICT และงานก่อสร้างโยธา นอกจากนั้นได้ดำเนินการลงทุนและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียดของงานในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

ระบบไฟฟ้า
    • สถานีไฟฟ้าย่อย (Power Substation)
    • ระบบจ่ายไฟ (Power Distribution)
    • ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินเวลาไฟดับ (Electrical Power Supply & Emergency Power Supply System)
    • ระบบแสงสว่าง (Lighting System)
    • ระบบโทรศัพท์ (Telephone System)
    • ระบบเสียง (Public Address System)
    • ระบบเครื่องรับสัญญาณหลัก (Master Antenna)
    • ระบบรักษาความปลอดภัย (Security System)
    • ระบบสายล่อฟ้า (Lightning Protection System)
    • ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System)
    • ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System)
  • Solar Power System
ระบบปรับอากาศ
  • ระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ (Air Conditioning System)
    • ระบบระบายอากาศ (Ventilation)
    • ระบบห้องทำความเย็น (Refrigeration)
    • ระบบห้องสะอาด (Clean Room)
    • ระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (Automatic Temperature and Humidity Control System)
    • ระบบอัดอากาศในบันไดหนีไฟ (Pressurized Stairs)
    • ระบบควบคุมปริมาณอากาศ (Variable Air Volume or VAV)
  • District Cooling System
ระบบสุขาภิบาลและระบบป้องกันอัคคีภัย
  • ระบบท่อประปา (Plumbing System)
    • ระบบผลิตไอน้ำและน้ำร้อน (Steam Boiler and Hot Water System)
    • ระบบบำบัดน้ำเสีย (Waste Water and Sewage Treatment)
    • ระบบน้ำดื่ม (Drinking Water System)
    • สระว่ายน้ำ (Swimming Pool)
    • ระบบแก๊ส (Gas System)
    • ระบบระบายน้ำทิ้ง (Drainage)
    • ระบบดับเพลิงแบบหัวฉีด โปรยน้ำ (Sprinkler System)
    • ระบบสารสะอาดดับเพลิง (FM 200 System)
    • ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย (Fire Alarm System)
    • ระบบดับเพลิงด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO, System)
    • ระบบท่อดับเพลิงและควบคุม (Fire Pumps and Controller)
    • อุปกรณ์ดับเพลิง (Fire Extinguish Equipment)
ระบบสื่อสาร โทรคมนาคม
  • ระบบเชื่อมโยงเครือข่ายเคเบิลใยแก้ว (Optical Fiber)
    • ระบบโทรศัพท์ TDMA (Time Division Multiple Access)
    • ระบบโทรศัพท์ไร้สาย (Wireless Telephone System)
  • Telecommunication System
  • Telephone System
  • ระบบ ICT
งานก่อสร้างโยธา บริษัทประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานโยธาทั่วไป โดยครอบคลุมถึงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล ศูนย์การค้า สถาบันการศึกษา โรงแรม ที่พักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า อาคารสนามบิน และโรงไฟฟ้า เป็นต้น
การตลาดและการแข่งขัน
นโยบายการตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ

ในการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันและนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท นอกจากการมุ่งเน้นความสามารถในการรักษาสัดส่วนการตลาดภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง และในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มบริษัทยังมุ่งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวด้วย กลยุทธ์การแข่งขันและนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีดังนี้

1. ชื่อเสียงและประสบการณ์ของกลุ่มวิศวกรผู้บริหาร กลุ่มบริษัทมีความรู้และประสบการณ์การทำงานภาคปฏิบัติในงานวิศวกรรมมากกว่า 35 ปี และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการ ทำให้สามารถมีส่วนช่วยตรวจสอบดูแลการทำงานของวิศวกรระดับผู้จัดการโครงการอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้หรือการเปลี่ยนแปลงทางวิศวกรรมอื่นๆ กลุ่มบริษัทจะมีความสามารถในการนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

2. ผลงานอันเป็นที่ยอมรับในอดีต ด้วยคุณภาพของผลงานและบริการในอดีตของกลุ่มบริษัทที่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ลูกค้าจำนวนมากได้ให้ความเชื่อถือและความไว้วางใจในการกลับมาใช้บริการของกลุ่มบริษัทอีก รวมทั้งได้แนะนำต่อไปยังลูกค้าอื่นๆ ด้วย ดังนั้นกลุ่มบริษัทจึงมีนโยบายหลักในการที่จะรักษาและเสริมสร้างชื่อเสียงของบริษัท โดยดำเนินการ ดังนี้

  • การรักษาคุณภาพของผลงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับ
  • การดำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและมีจรรยาบรรณที่ดีต่องานในสัญญา
  • การดำเนินงานในแต่ละโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า
  • การดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าเสมือนหนึ่งว่าบริษัทคือเจ้าของโครงการดังกล่าวด้วยและ
  • การบริการหลังการขายและหลังหมดสัญญาบริการ

3. ความสามารถของบุคลากร กลุ่มบริษัทมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรซึ่งนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของกลุ่มบริษัท เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานและดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้

  • การพัฒนาความรู้และความสามารถของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความรู้ ทางเทคนิควิชาการและการจัดการ
  • การสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่องาน และสังคม
  • การสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร ทั้งกับบุคคล และสิ่งแวดล้อม
  • การทำงานเป็นทีม การประสานงานระหว่างทีมวิศวกรและบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ในการให้บริการที่ดีเยี่ยมแก่ลูกค้า
  • การนำเอาระบบ KPI และ Balance Scores Card (BSC) เข้ามาใช้วัดผลการ ดำเนินงานของหน่วยงานและบุคคล รวมถึงนำระบบ Talent Management และ Succession Plan เข้ามาใช้เพื่อวางแผนบุคลากรผู้บริหารของบริษัท

4. สถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคง โดยการรักษาอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำ และระดับสภาพคล่องที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 4.67 เท่า โดยมีอัตราส่วนสภาพคล่อง 1.11 เท่า มีกระแสเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 429.45 ล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารหลายแห่งเพื่อใช้ในการดำเนินการ ในวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 35,761ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงาน

5. ประสิทธิภาพในการจัดการกลุ่มบริษัทมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบการทำงานและการจัดการส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและพัฒนาความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยได้รับการรับรองการบริหารงานคุณภาพมาตั้งแต่ วันที่ 31 สิงหาคม 2543 (ISO 9002:1994) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 Version 2000 จากบริษัท BVQI จำกัด และบริษัทได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO9001:2008 โดย บริษัท Bureau Veritas Certification (Thailand) Ltd. เป็นผู้ประเมินและให้การรับรองในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 บริษัทยังคงมีการรักษาระบบบริหารงานคุณภาพที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจติดตามจาก บริษัท Bureau Veritas ทุก ๆ 6 เดือน รวมทั้งในส่วนของบริษัทเองยังมีการสุ่มตรวจภายในอย่างต่อเนื่อง โดยการประยุกต์หลักการในการตรวจแบบ Process Approach (การพิจารณาอย่างเป็นกระบวนการ)โดยสถาบันดังกล่าวได้มีการทบทวนการรับรองทุกปี และในปี 2560 บริษัทได้การรับรองมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 จนถึงปัจจุบัน

6. การจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มบริษัทได้มีการกำหนดนโยบายในการจัดซื้อ เพื่อสร้างความโปร่งใสและสร้างการแข่งขันระหว่างผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อเป็นการรับประกันว่าต้นทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงร่วมมือกับ Supply Chain ในการพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การจำหน่าย และช่องทางการจำหน่าย

ลักษณะลูกค้าของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ลูกค้าภาคเอกชน เช่น อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น และภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยสัดส่วนการให้บริการแก่ลูกค้าแต่ละประเภทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

หน่วย : ล้านบาท

ประเภท ปี 2565 ปี 2564 ปี 2563
มูลค่า ร้อยละ มูลค่า ร้อยละ มูลค่า ร้อยละ
ภาคเอกชน 1,479.50 84.68 5,715.00 66.27 1,349.00 9.40
ภาครัฐ 267.72 15.32 2,908.43 33.73 12,998.47 90.60
รวม 1,747.22 100.00 8,623.43 100.00 14,347.47 100.00

ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มเข้ารับงานภาครัฐเพิ่มขึ้น แม้ว่าในการเข้าร่วมประมูลงานจากภาครัฐจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดและคุณสมบัติตามข้อกำหนด (Terms of Reference หรือ TOR) ของแต่ละหน่วยงานราชการที่เป็นผู้จ้าง โดยผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐจะต้องเป็นผู้ที่มีผลงานในอดีตหรือมีรายชื่อขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการนั้น ๆ ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีชื่อขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) เป็นต้น อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทมีนโยบายที่จะขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับงานในส่วนของภาครัฐบาล เนื่องจากภาครัฐบาลมีนโยบายการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานไฟฟ้า, ขนส่งมวลชน และสื่อสารโทรคมนาคม อย่างต่อเนื่อง

ในการรับงานของกลุ่มบริษัทจะมีทั้งการเป็นผู้รับเหมา โดยตรงจากลูกค้าและผ่านการรับเหมาช่วง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่างานรวมทั้ง 2 ประเภท มาจากการประมูลงาน ในขณะที่ส่วนที่เหลือมาจากการติดต่อเจรจาต่อรอง โดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มบริษัทจะรับงานจากการเป็นผู้รับเหมาโดยตรงจากลูกค้า เนื่องจากจะได้รับราคาและเงื่อนไขการชำระเงินที่ดีกว่า ส่วนการรับเหมาช่วงนั้นกลุ่มบริษัทใช้เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางเข้าหาลูกค้าและช่องทางการจำหน่าย โดยผ่านบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่หรือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เช่น บริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน),Marubeni Corporation เพื่อเป็นการสร้างผลงานทางด้านงานของภาครัฐ และผลงานในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่การประมูลงานของภาครัฐหรือโครงการในต่างประเทศจะเป็นลักษณะสัญญาเดียวสำหรับงานรับเหมาก่อสร้างและงานระบบวิศวกรรม และผู้รับเหมาก่อสร้างหลักจะให้ผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้ดำเนินการงานระบบวิศวกรรม โดยสัดส่วนงานของบริษัทระหว่างการติดต่อลูกค้าโดยตรงและผ่านการรับเหมาช่วงในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

ประเภท ปี 2565 ปี 2564 ปี 2563
มูลค่า ร้อยละ มูลค่า ร้อยละ มูลค่า ร้อยละ
การติดต่อลูกค้าโดยตรง 1,672.84 95.74 6,212.43 72.04 14,077.47 98.12
การรับเหมาช่วง 74.38 4.26 2,411.00 27.96 270.00 1.88
รวม 1,747.22 100.00 8,623.43 100.00 14,347.47 100.00

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสในการได้รับงานโครงการใหม่ๆ จากลูกค้าเดิมในอนาคต โดยในปี 2565 สัดส่วนงานของกลุ่มบริษัทที่ได้รับจากลูกค้าใหม่เฉลี่ยประมาณ 80.61% และลูกค้าเดิมเฉลี่ยประมาณ 19.39% ลูกค้าเดิมของบริษัทซึ่งให้ความเชื่อถือและไว้วางใจบริษัท เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงแรมในเครือภูเก็ตอาร์คาเดีย ท็อปส์ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า, โนเบิลกรุ๊ป, กลุ่ม CP และ TCC เป็นต้น

สภาพการแข่งขัน

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 (%YoY) ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2565 หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2565ลดลงจากไตรมาสที่สามของปี 2565 ร้อยละ 1.5 (%QoQ SA)

ด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง

ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯและสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

รวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ6.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 3.4 ของ GDP

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ และทั้งปี 2565 ในด้านการผลิต สาขาก่อสร้าง

สาขาก่อสร้าง : ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการกลับมาขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ และการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างภาครัฐกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า (การก่อสร้างของรัฐบาลกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 11.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า) และการก่อสร้างภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (เช่น ห้องชุด และบ้านเดี่ยว) และการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ในขณะที่การก่อสร้างอื่น ๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้า สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ร้อยละ 3.5 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เพิ่มขึ้นร้อยละ16.6) หมวดกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2) และหมวดผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7) เป็นสำคัญ

รวมทั้งปี 2565 การผลิตสาขาการก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2564 โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 3.4 (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 6.6 ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5) และการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.2

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566

คาดว่าจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ร้อยละ 1.5 ของ GDP

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างการผลิต และการขยายผลการทำเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (ii) การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง (iii) การติดตามประเมินสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลก (iv) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงอุตสาหกรรมการผลิต (v) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและ (vi) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (4) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การแก้ไขปัญหาข้อจำกัดและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ (ii) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ (5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ (v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vi) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น (6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่การคลัง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (7) การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และ (8) การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2565 มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมากทั้งด้านค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้าง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่สำคัญโดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับปี 2566-2567 ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors : EEC) ที่มีแนวโน้มจะเร่งตัว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ EEC ระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่คืบหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ ผู้รับเหมารายใหญ่ยังมีโอกาสรับงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวและมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

มุมมองวิจัยกรุงศรี

ในปี 2565-2567 รายได้ของกลุ่มผู้รับเหมาที่เน้นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่รายได้ของกลุ่มที่เน้นโครงการภาคเอกชนยังซบเซาในปี 2565 ก่อนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี 2566-2567

ผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวตามการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยรายใหญ่และรายกลาง รายได้จะขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการประมูลรับงานและมีศักยภาพในการบริหารงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งโครงการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว

ผู้รับเหมางานก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยอาคารทั่วไป กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ รายได้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปี 2566-2567 โดยรายได้อาจยังทรงตัวในปี 2565 จากการแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันแพงและวัดสุก่อสร้างมีราคาสูง โดยคาดว่ารายได้ของกลุ่มรายใหญ่และรายกลางจะฟื้นตัวได้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นรับงานโครงการ Mixed-use น่าจะมี Backlog เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้รับเหมารายใหญ่มีโอกาสรับงานก่อสร้างภาคเอกชนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว สำหรับรายได้ของกลุ่มรายเล็กมีทิศทางชะลอตัว เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการขนาดเล็กมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการต้นทุน และการขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลให้ผู้รับเหมากลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการและปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

ข้อมูลพื้นฐาน

ในช่วงปี 2555-2564 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) (ภาพที่ 1) ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะผู้ว่าจ้าง ได้แก่ งานภาครัฐและเอกชน โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 59.41 ในปี 2564 (ภาพที่ 2)

งานก่อสร้างภาครัฐ : ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นสัดส่วน 82% ของมูลค่าก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด ที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐ (16%) และที่พักของข้าราชการ (2%) ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มักได้เปรียบในการรับงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เนื่องจากมีทั้งประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้าน ศักยภาพทางการเงิน และการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีในงานก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้รับเหมา SMEs จะมีโอกาสรับงานภาครัฐในลักษณะของผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors)

งานก่อสร้างภาคเอกชน : กระจุกตัวในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนคิดเป็น 52% ของมูลค่าก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (20%) และอื่น ๆ (28%) เช่น โรงแรม และโรงพยาบาล (ข้อมูลปี 2563 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ทิศทางงานก่อสร้างภาคเอกชนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในการลงทุน เสถียรภาพการเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ

ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาของไทยยังขยายฐานลูกค้าออกไปรับงานต่างประเทศ (ส่วนมากเป็นผู้รับเหมารายใหญ่) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในช่วงของการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โครงข่ายถนน รถไฟ โรงไฟฟ้า รวมถึงงานก่อสร้าง ซ่อมแซม/ตกแต่ง อาคาร และที่อยู่อาศัย

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทยมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ราย (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2563) ผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวนเพียง 691 ราย (หรือสัดส่วนเพียง 0.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด) อย่างไรก็ตาม รายได้ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 82% ขนาดกลาง 14% และขนาดเล็ก 4% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์ บมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ช.การช่าง มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 17% ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 67% ของ 10 บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ภาพที่ 3 ข้อมูลปี 2564)

ทั้งนี้ การประเมินภาวะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะพิจารณา

1) ด้านตลาด : หมายถึงโอกาสการรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง แผนและความก้าวหน้าของการลงทุนในโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกฎระเบียบการลงทุนของแต่ละประเทศที่อาจเอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ

2) ด้านต้นทุน : หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงาน (ปัจจุบันธุรกิจก่อสร้างไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะ ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานมักต่ำกว่าค่าจ้าง) ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย (1) ค่าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เหล็ก คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของต้นทุนรวม (2) ค่าจ้างแรงงาน 20% และ (3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 20%[2] (ภาพที่ 4)

สถานการณ์ที่ผ่านมา

ปี 2564 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเติบโตต่อเนื่อง พิจารณาจากมูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมที่ขยายตัว 4.1% YoY คิดเป็นมูลค่า 1,364.8 พันล้านบาท (ภาพที่ 5) ปัจจัยหนุนจากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ (สัดส่วน 59% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างทั้งหมด) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการต่อเนื่องอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่ 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีชมพู สีเหลือง และสีส้ม ขณะที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนโดยรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก จากภาวะก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผลจากวิกฤต COVID-19 ทำให้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมีความเข้มงวดขึ้น แม้ว่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจะเริ่มขยายตัวบ้าง โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

งานก่อสร้างภาครัฐ มีมูลค่า 804.5 พันล้านบาท ขยายตัว 6.4% (ภาพที่ 6) ปัจจัยสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

งานก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน (สัดส่วน 81% ของมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 5.8% โครงการขับเคลื่อนหลักในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (i) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้างานก่อสร้างโดยรวม 89.5% (ii) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้า 88.7% และ (iii) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้า 83.9% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2564) ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 3 สายมีแผนจะเปิดบริการภายในปี 2565 (2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด เฟส 3 ในพื้นที่ EEC (เริ่มก่อสร้างเมื่อกรกฎาคม 2564)

งานก่อสร้างประเภทอื่นๆ ได้แก่ การก่อสร้างอาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐ (สัดส่วน 17%) และอาคารที่อยู่อาศัย (สัดส่วน 2%) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 8.4% และ 14.3% ตามลำดับ จากการเร่งตัวของหลายโครงการให้ทันเป้าหมายการส่งมอบตามสัญญา เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัวจากความล่าช้าของบางโครงการในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างของกลุ่มผู้รับเหมาขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและขาดแคลนแรงงานอยู่ก่อนแล้ว

งานก่อสร้างภาคเอกชน มีมูลค่า 560.3 พันล้านบาท ขยายตัวเพียง 0.9% (ภาพที่ 7) ผลจากการหดตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย

งานก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย (สัดส่วน 50% ของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างหดตัว 1.8% สอดคล้องกับจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดหลักภูมิภาค (เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และภูเก็ต) ในปี 2564 โดยรวมที่ลดลง 14.2% (ภาพที่ 8) เนื่องจาก (1) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดโครงการใหม่ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม โดยหันไปเน้นการระบายสต็อกเพื่อรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสด ผ่านกลยุทธ์การขายหลายรูปแบบ อาทิ การให้ส่วนลดมากกว่าปกติ การปล่อยเช่า และการให้อยู่ฟรี 1-2 ปี เป็นต้น (2) กำลังซื้อผู้บริโภคซบเซารุนแรงตามภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต และ (3) กฎหมายฉุกเฉินให้หยุดการก่อสร้างเป็นการชั่วคราว (28 มิถุนายน –24 กรกฎาคม 2564) ในแคมป์ก่อสร้างบางพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยแรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างจังหวัดบางส่วนออกจากพื้นที่ก่อสร้างและยังไม่กลับเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้โครงการก่อสร้างหลายโครงการถูกเลื่อนออกไป

งานก่อสร้างโครงการที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย การก่อสร้างหมวดอาคารเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างในหมวดการบริการและขนส่ง และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนหนึ่งเป็นแรงหนุนจากขยายตัวของการลงทุนก่อสร้างโรงงาน และอาคารสำนักงานในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ EEC สำหรับรองรับการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2564 เพิ่มขึ้น 8.0% จากที่หดตัว 1.8% ในปี 2563 (ภาพที่ 9) จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาฯ เกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (สัดส่วน 23% ของมูลค่าต้นทุนวัสดุก่อสร้างทั้งหมด) ราคาเพิ่มขึ้น 33.9% มากที่สุดเมื่อเทียบกับราคาประเภทอื่น ผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้ในการผลิต อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ตามทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลกจากผลของการลดลง ของอุปทานจากจีน ขณะที่ปูนซีเมนต์ (สัดส่วน 13%) ราคาปรับลดลง 1.1% ผลจากการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่รอการฟื้นตัว (ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 60%)

ปี 2564 รายได้ของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (10 รายแรกที่มีรายได้สูงสุด[3]) ลดลง 6.6% โดยอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.7% จาก 1.5% ผลกระทบจากการชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และการที่ทางการสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างชั่วคราว เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำให้โครงการก่อสร้างบางโครงการต้องล่าช้าออกไป (ภาพที่ 10)

สำหรับในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหดตัวจากผลกระทบด้านต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้อุปทานน้ำมันและวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (2020) ขณะเดียวกันทั้งรัสเซียและยูเครนส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปทั่วโลกรวมกัน 12% ของปริมาณการส่งออกเหล็กทั้งหมดของทั้งโลก (ประมาณ 47 ล้านตัน) ธุรกิจก่อสร้างของไทยจึงเผชิญกับราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยช่วงไตรมาส 1/2565 ราคาเหล็กซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหลักปรับเพิ่มขึ้นในอัตราสูง (เหล็กเส้นกลม (Rebar) 27,446 บาท/ตัน (+25.3% YoY) เหล็กตัวซี (Channel) 36,046 บาท/ตัน (+37.5% YoY)) ขณะที่ดัชนีราคาคอนกรีตและปูนซีเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น 5.7% และ 4.8% ตามลำดับ (เหล็ก คอนกรีต และปูนซีเมนต์ มีสัดส่วน 23%, 16% และ 13% ในโครงสร้างต้นทุนรวมของธุรกิจก่อสร้าง ตามลำดับ) จากแรงกดดันด้านต้นทุนข้างต้น ทำให้บางโครงการประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย บางโครงการจึงต้องชะลอการลงทุนก่อสร้างออกไปก่อน ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมในช่วงไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท ลดลง 3.7% YoY โดยการลงทุนก่อสร้างภาครัฐมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 1.3 แสนล้านบาท ลดลง 2.1% YoY และ 6.1% YoY ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรม

วิจัยกรุงศรีคาดว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2567 ตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับEEC และโครงการขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะทางรางและถนน รวมถึงการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ผู้รับเหมาจะยังคงเผชิญภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยผู้ประกอบการรายย่อยอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและทิ้งงาน ซึ่งปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญา (ค่า K หรือ Escalation Factor) เป็นจำนวนมาก (ที่มา: สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, ฐานเศรษฐกิจ 2 เม.ย.2565) ภาพรวมข้างต้น ทำให้คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมปี 2565 จะขยายตัวได้ในอัตราไม่สูงนักที่ 3.0-3.5% ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5-5.5% ในปี 2566-2567 (ภาพที่ 11)

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2562 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (ภาพที่ 12)

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 1 (2560-2564) คาดว่าจะเริ่มทยอยดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนแผนฯ ระยะที่ 2 (2565–2569) มีเป้าหมายมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคม และโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 131 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 386,565 ล้านบาท เป็นการลงทุนในระบบรางและขนส่งมวลชนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 43% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด (ภาพที่ 13)

โครงการสำคัญในพื้นที่อื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น (ตารางที่ 4)

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 ปัจจัยหนุนจาก

โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10.0% หรือประมาณ 7 หมื่นยูนิตต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 (ภาพที่ 14) โดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างบ้านแนวราบมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง รองรับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยได้แรงหนุนจากการขยายโครงข่ายการคมนาคมของภาครัฐ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างชานเมืองสู่ตัวเมืองได้รวดเร็วขึ้น ส่วนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้าบางเส้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 การลงทุนก่อสร้างโดยรวมอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มจากราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้าง แม้ผู้ประกอบการจะมีโอกาสผลักภาระต้นทุนโดยการปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย แต่ก็อาจทำได้จำกัดเนื่องจากกำลังซื้อยังฟื้นตัวช้า โดยสมาคมรับสร้างบ้านระบุว่าราคาบ้านมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่ม 5 - 8% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

การก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ EEC โดยผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมีแผนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใหม่และพัฒนาที่ดินเพื่อขายและสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม S-Curve อาทิ นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (รูปแบบร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.) คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566

โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ แบ่งเป็น (1) การก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีก (Retail space) มีแนวโน้มขยายตัวตามแผนการลงทุนของผู้พัฒนาโครงการ (ภาพที่ 15) เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว และ (2) การก่อสร้างอาคารสำนักงาน (Office building) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นโครงการ Mixed-use รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของสังคมเมืองมากขึ้น โดยโครงการที่มีแผนลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ทั้งที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและกำลังจะเริ่มก่อสร้าง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1 ล้านตารางเมตร (ตารางที่ 5)

ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวม ในปี 2566-2567 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 แต่จะยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 16) ปัจจัยหลักจาก (1) การปรับขึ้นของราคาพลังงานที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต และการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังเอื้อให้ผู้รับเหมารายใหญ่มีอำนาจต่อรองด้านราคากับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง น่าจะทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ในอัตราไม่สูงนัก (2) การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าตามภาวะตลาดโลก อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ซึ่งมีผลให้ราคาเหล็กจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตามทิศทางราคาตลาดโลก แม้ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจะคลี่คลายลงบ้าง จากการลดกำลังการผลิตเหล็กของจีน (3) การฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง หนุนความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง และ (4) มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการใช้สินค้า (วัสดุก่อสร้าง) ที่ผลิตในประเทศผ่านมาตรการ “Made in Thailand”

แนวทางการปรับตัวของผู้รับเหมา

รายใหญ่ อาศัยความได้เปรียบจากการมีอำนาจการต่อรองสูงกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างในการบริหารต้นทุนด้านวัตถุดิบ รวมทั้งการหาช่องทางธุรกิจต่อเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างเพื่อรักษาฐานรายได้และกำไร เช่น การบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้า ส่วนด้านการลงทุนจะเน้นเพิ่มการลงทุนด้านเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน ลดระยะเวลาก่อสร้าง และแก้ไขข้อผิดพลาดระหว่างการก่อสร้าง อาทิ BIM (Building Information Modeling) Prefabs (Prefabricated Building Components) (ภาพที่ 17)

รายกลางและรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานแบบครอบครัว มีเงินทุนจำกัด จึงมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่า โดยจะรับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงมองหาช่องทางเพิ่มรายได้จากงานซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร

การทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ ผู้รับเหมาของไทยมีโอกาสรับงานเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งกำลังมีการขยายการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก รองรับกระแสการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ภาพที่ 18) โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โอกาสส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่แค่เพียงผู้รับเหมารายใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และช่องทางการลงทุนที่มาจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business connection) กับนักลงทุนท้องถิ่น

ปัจจัยเสี่ยงของการเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศ CLMV ได้แก่ ด้านกฎระเบียบในการว่าจ้างที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เงื่อนไขสัญญารับเหมาที่มีความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงด้านเสถียรภาพทางการเมืองในบางประเทศ รวมถึงการแข่งขันกับผู้รับเหมาต่างชาติรายอื่นๆ ซึ่งแนวทางในการลดความเสี่ยงข้างต้นผู้รับเหมาไทยควรหาพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานใน CLMV อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์/ผู้รับเหมาท้องถิ่น รวมถึงบริษัทจัดหาแรงงานท้องถิ่น เพื่อให้มีช่องทางในการรับงานได้ต่อเนื่อง

ปัจจัยท้าทายที่อาจจำกัดการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างและรายได้ของผู้ประกอบการรับเหมาในช่วงปี 2565-2567 ที่สำคัญ ได้แก่

ภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูงผลจากสงครามยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน

สต็อกที่อยู่อาศัยยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 19) ขณะเดียวกันอุปทานใหม่ยังเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ ของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะขาดแคลนแรงงานจากผลกระทบของ COVID-19 อาจเป็นอุปสรรคให้โครงการก่อสร้างล่าช้า ทั้งนี้ แรงงานก่อสร้างต่างด้าวน่าจะยังไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยเท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 และแรงงานบางส่วนที่เดินทางไปต่างจังหวัดยังไม่กลับสู่ตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ภาพที่ 20)

[1] ค่า K คือ ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน ณ ระยะเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดซองประกวดราคา เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ส่งงานในแต่ละงวด เพื่อใช้สำหรับคำนวณเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้กับผู้รับเหมา เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้าง (ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์)
[2] คำนวณจากโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ และตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิต สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[3] ได้แก่ 1) Christiani & Nielsen (Thai) PLC. 2) Power Line Engineering PLC. 3) Pre-Built PLC. 4) Syntec Construction PLC. 5) Unique Engineering And Construction PLC. 6) Nawarat Patanakarn PLC. 7) Ch. Karnchang PLC. 8) Sino-thai Engineering And Construction PLC. 9) Italian-Thai Development PLC. และ 10) Thai Polycons PLC.

ที่มา : วิจัยกรุงศรี

สถานภาพและศักยภาพในการแข่งขัน

สำหรับภาวะการแข่งขันจากข้อมูลจำนวนบริษัทในแต่ละกลุ่มขนาดธุรกิจ อาจสะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดได้ระดับหนึ่งว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กน่าจะมีสภาพการแข่งขันที่สูงที่สุด เนื่องจากอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (Barriers to entry) มีไม่มาก เพราะใช้เงินลงทุน เทคโนโลยี ความชำนาญและการบริหารจัดการที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้รับเหมารายใหญ่ แม้จะมีอุปสรรคบ้างด้านกฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการประกอบกิจการ แต่ก็ถือว่าสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย ทำให้ตลาดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กมีผู้ประกอบการจำนวนมาก

ส่วนตลาดของผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นตลาดที่น่าจะมีการแข่งขันน้อยที่สุด เนื่องจากมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to entry) ค่อนข้างสูง เช่น ขนาดเงินลงทุนจำนวนมาก ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ขณะที่ตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลางอาจมีสภาพการแข่งขันพอสมควร โดยการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับปริมาณงานก่อสร้างในแต่ละสถานการณ์ หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี มีปริมาณงานก่อสร้างมาก ก็มักจะพบว่าการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก แต่หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ปริมาณงานก่อสร้างหดตัวลง ย่อมมีส่วนผลักดันให้สถานการณ์การแข่งขันเข้มข้นขึ้นตามมา เพราะจำนวนผู้ประกอบการในตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก หรือหากมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมการแข่งขันในตลาดระดับนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งส่งผลให้การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น จนอาจมีการตัดราคาค่ารับเหมาก่อสร้างก็ได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาการแข่งขันตามประเภทของงานก่อสร้างภาครัฐและเอกชน พบว่า ในตลาดก่อสร้างภาครัฐ หน่วยงานของรัฐมักแบ่งผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะสามารถรับงานโครงการขนาดต่าง ๆ ด้วยขั้นตอนการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นในการจ้าง (Pre-qualification) โดยใช้เกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ ในการพิจารณาได้แก่ ฐานะทางการเงินขั้นต่ำ จำนวนเครื่องมือเครื่องจักรขั้นต่ำ จำนวนบุคลากรขั้นต่ำ ตลาดการก่อสร้างภาครัฐจึงมีการแบ่งระดับตามมูลค่าโครงการอย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะเข้าแข่งขันในโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น ทำให้โครงการก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่ ซึ่งสะท้อนการแข่งขันในตลาดก่อสร้างภาครัฐว่ามีระดับการแข่งขันไม่สูงเมื่อเทียบกับผู้รับเหมาตลาดอื่นๆ

ในส่วนของตลาดก่อสร้างภาคเอกชน แม้บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่วนใหญ่ระบุว่า ตลาดก่อสร้างภาคเอกชนมีสภาพการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการที่มีการลงนามในสัญญาจ้างแล้ว กลับพบว่าบริษัทส่วนใหญ่มีงานค่อนข้างทั่วถึง ทั้งการก่อสร้างอาคารชุด และที่พักอาศัยที่มีเป็นจำนวนมาก พบว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดก่อสร้างภาคเอกชนมักจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง จนอาจมีการตัดราคากันเพื่อความอยู่รอด

ทั้งนี้ ถือได้ว่าปริมาณความต้องการงานบริการด้านก่อสร้าง และออกแบบ จัดหา และรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมทั้งโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ และโครงการเก่าที่ต้องการปรับปรุง ดังนั้น โอกาสในการเติบโตของธุรกิจยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่มีคุณภาพและมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งจะมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันสูง เนื่องจากผู้รับเหมาที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการดำเนินงานมีความยืดหยุ่นในการรับงานทั้งขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก และมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์เพื่อให้ได้ราคาและเงื่อนไขที่ดีกว่า ซึ่งบริษัทถือว่ามีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นครบถ้วน ประกอบกับได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า มากกว่า 33 ปี ที่อยู่ในวงการ จึงส่งผลให้บริษัทมีโอกาสชนะการประมูลงานด้วยข้อเสนอด้านราคาที่ดีกว่า และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้มากกว่า ดังจะเห็นได้จากผลงานในอดีตที่บริษัทได้ควบคุมและบริหารโครงการให้แล้วเสร็จทันต่อกำหนดการด้วยคุณภาพตามมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนด รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการที่ธุรกิจของบริษัทครอบคลุมถึงลูกค้าในกลุ่มการก่อสร้างเพื่อการอยู่อาศัย การก่อสร้างเชิงพาณิชย์ และการก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทั้งโครงการก่อสร้างใหม่ และงานปรับปรุงและพัฒนาระบบวิศวกรรมสำหรับอาคารหรือโรงงานเดิม ดังนั้นผลกระทบจากปัจจัยลบในภาคธุรกิจหนึ่งธุรกิจใดจึงมีผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ

นอกจากการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้รับเหมาไทยแล้ว ยังมีผู้รับเหมาต่างชาติ และกิจการร่วมทุนระหว่างผู้รับเหมาต่างชาติกับผู้รับเหมาไทย เป็นคู่แข่ง โดยการประเมินส่วนแบ่งทางการตลาดสามารถทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้อีก ทั้งการจัดกลุ่มของผู้รับเหมาโดยแยกตามความชำนาญ ประสบการณ์ และคุณภาพของผลงาน ก็สามารถทำได้ยาก เนื่องจากการติดตั้งเพื่อให้ระบบทำงานได้นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายสำหรับวิศวกรที่ผ่านการทำงานมา แต่คุณภาพ ความประณีต และอายุการใช้งานของงานติดตั้ง ตลอดจนความสามารถในการเตรียมระบบงานที่มีความซับซ้อนเป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาแต่ละกลุ่มจะมีความสามารถที่แตกต่างกันและต้องอาศัยระยะเวลาในการพิสูจน์เพื่อจัดกลุ่มความชำนาญ

ในปี 2565 บริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนหลายโครงการ และชนะการประมูล รวม 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่างาน จำนวน 1.8 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายแต่เนื่องจากบริษัทมีงานในมือที่มาจากปี 2564 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้หลังจากการรับรู้รายได้ในปี 2565 จำนวนรวม 7.84 พันล้านบาทแล้ว ณ ต้นปี 2566 บริษัทมีงานในมือ (backlog) 15.7 พันล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนการที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึง การเข้ารับงานจากภาคเอกชนรายใหญ่โดยคาดว่าจะได้รับงานเพิ่มเติมในปี 2566 อีกประมาณ 12.2 พันล้านบาท

ในปี 2565 การปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้างหลักโดยเฉพาะเหล็ก ส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2565 สถานการณ์ดังกล่าวนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทคาดว่าในปี 2566 และ 2567 ต้นทุนในส่วนนี้จะสามารถควบคุมได้ดีขึ้นกว่าปี 2565 และทำให้บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้ต่อไป รวมถึงบริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น โดยได้กำหนดกลยุทธ์ของทุกหน่วยงานของบริษัทให้บริหารจัดการและดำเนินการตามกรอบของ ESG บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholders) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา การสนับสนุนที่ได้รับจากลูกค้า คู่ค้า ผู้บริหารและพนักงาน รวมถึง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ เป็นพลังสำคัญที่ทำให้บริษัทมีความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป

ดังนั้นในปี 2566 บริษัทเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มิให้เกิดความล่าช้าของโครงการ รวมถึงการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อให้บริษัทได้รับผลกำไรตามเป้าหมาย บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมและมีการวัดผลงานอย่างชัดเจน บริษัทส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในองค์กร และนอกองค์กร เพื่อเป็นส่วนที่จะทำให้บริษัทก้าวหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

cross menu