chairman

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565 มูลค่าการลงทุนก่อสร้าง ภาครัฐและเอกชน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท หดตัวประมาณ 1-2% ซึ่งเป็นผลมาจากเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างภาครัฐบาลหดตัวลง เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณและการเดินหน้าโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ล่าช้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวจากการลงทุนของภาคเอกชนในส่วนของการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ในจังหวัดสำคัญที่แนวโน้มธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันที่จะชนะการประมูลงานทั้งภาครัฐและเอกชนระหว่างผู้รับเหมารายใหญ่และรายกลางยังคงเกิดขึ้นอย่างสูง ในส่วนของต้นทุนวัสดุก่อสร้างหลัก เช่น หล็ก คอนกรีต สายไฟ ทองแดง อลูมิเนียม และอุปกรณ์งานติดตั้งระบบประกอบอาคารปรับตัวลงหรือคงที่ ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2566 บริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนหลายโครงการ และชนะการประมูล รวม 25 โครงการ คิดเป็นมูลค่างาน จำนวน 5.58 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายแต่เนื่องจากบริษัทมีงานในมือที่มาจากปี 2565 กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้หลังจากการรับรู้รายได้ในปี 2566 จำนวนรวม 8.95 พันล้านบาทแล้ว ณ ต้นปี 2567 บริษัทมีงานในมือ (backlog) 15.1 พันล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนการที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึง การเข้ารับงานจากภาคเอกชนรายใหญ่โดยคาดว่าจะได้รับงานเพิ่มเติมในปี 2567 อีกประมาณ 14.4 พันล้านบาท

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านรายได้ ผลกำไร และการชนะการประมูลโครงการ ต่าง ๆ บริษัทมีรายได้รวม 9.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากปี 2565 ซึ่งรายได้ 95.6% มาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ บริษัทมีกำไรขั้นต้น 8.3% ในปี 2566 ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2565 ที่มีกำไรเพียง 3.4% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาวัสดุหลักในปี 2566 ปรับตัวลดลงและการควบคุมต้นทุนโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารในปี 2566 ซึ่งลดลง 12.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีต้นทุนทางด้านการเงินสูงขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยที่เกิดจากหุ้นกู้ และเงินกู้จากสถาบันการเงิน (Project financing) สำหรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะของภาครัฐที่มีระยะเวลาเรียกเก็บเงินค่อนข้างยาว อย่างไรก็ตามในปี 2567 คาดว่าต้นทุนทางการเงินจะลดลงเนื่องจากสามารถเรียกเก็บเงินจากโครงการภาครัฐได้เพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีผลกำไรสำหรับปี 230.2 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 0.17 บาทซึ่งเกิดจากการควบคุมต้นทุนทางตรงและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลง

ในปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 11.3% จาก 14.35 พันล้านบาท ในปี 2565 เป็น 15.95 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 13.45 พันล้านบาท (84.2%) และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน จำนวน 2.53 พันล้านบาท (15.8%) สินทรัพย์หมุนเวียน เพิ่มขึ้นจาก 11.95 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 13.45 ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 12.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของงานที่ทำแล้วรอเรียกเก็บตามสัญญาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการภาครัฐและลูกหนี้การค้า ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินรวมเพิ่มขึ้น 10.9% จากปี 2565 จำนวน 12.13 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.45 พันล้านบาทในปี 2566 โดยเป็นหนี้สินหมุนเวียนรวม 12.83 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 11.13 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% หุ้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (Project financing) เจ้าหนี้การค้าและเงินรับล่วงหน้าจากผู้ว่าจ้าง สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวดีขึ้นจาก 2.22 พันล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.52 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.5% ซึ่งเป็นผลจากกำไรที่เกิดขึ้นในปี 2566 และส่งผลทำให้อัตราส่วน D/E ปรับตัวลงเป็น 5.33 เปรียบเทียบกับ 2565 อยู่ที่ 5.45 ในขณะที่ Gearing เพิ่มขึ้นจาก 1.76 ในปี 2565 เป็น 2.1 ในปี 2566 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่สถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนบริษัทยอมรับได้

บริษัทจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของบริษัทที่อยู่ในกรอบของบรรษัทภิบาล มีการพิจารณาควบคุมดูแลความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ต่ำ และสามารถกำหนดวิธีการแก้ไข ปรับปรุง และลดความเสี่ยงในธุรกรรมต่าง ๆ ของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น โดยได้กำหนดกลยุทธ์ของทุกหน่วยงานของบริษัทให้บริหารจัดการและดำเนินการตามกรอบของ ESG ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณโครงการที่ปฏิบัติงาน ในเรื่องของขยะและมลภาวะต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในโครงการ หรือประชาชนบริเวณข้างเคียง เน้นเรื่องความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นสำคัญ การเลือกคัดสรรและใช้วัสดุต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (CO2) มีการจัดทำโครงการคัดแยกขยะในทุกโครงการก่อสร้างเพื่อนำมา recycle การส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและแรงงานโดยยึดถือกรอบ Human Rights ในการดำเนินการ ให้มีความรู้และความสามารถเพิ่มทั้งในด้านเทคนิคงานก่อสร้างและติดตั้งระบบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทผลิตผลงานที่ดีให้กับลูกค้าและเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป บริษัทให้ความสำคัญกับ Value Chain มาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงให้การสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมสำหรับงานก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ การปรับปรุงและดำเนินการดังกล่าวข้างต้น เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บริษัทมีความเจริญมั่นคงต่อไป

ณ โอกาสนี้ บริษัทขอขอบพระคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholders) รวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้บริหารและพนักงาน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุนบริษัท และทำให้การดำเนินงานของบริษัทบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

sign
พลโทสินชัย นุตสถิตย์
ประธานกรรมการบริษัท
sign
นายเสวก ศรีสุชาต
ประธานกรรมการบริหาร
cross menu